โคราช “พร้อม” ระดมทุกภาคส่วน เตรียมทางออก จากวิกฤติน้ำท่วมหวั่นซ้ำรอย ปี ๕๓



โคราช “พร้อม” ระดมทุกภาคส่วน เตรียมทางออก จากวิกฤติน้ำท่วมหวั่นซ้ำรอย ปี ๕๓
เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมสีมาธานี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา เดินทางพร้อมคณะผู้บริหาร เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรม “การเตรียมทางออกจากวิกฤติน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา” โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค ผู้บริหารและบุคลากรของส่วนราชการส่วนกลาง หน่วยงานอิสระ รัฐวิสาหกิจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา กว่า ๕๐๐ หน่วยงาน
โครงการ “การเตรียมทางออกจากวิกฤติน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา” ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง อบจ.นครราชสีมา ร่วมกับ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมา สามารถบูรณาการหาแนวทางป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดจากอุทกภัย อีกทั้งยังทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้ พร้อมกันนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต บรรยายในเรื่อง “เมืองกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และ ภัยพิบัติเมือง กรณีน้ำท่วมเมืองนครราชสีมาครั้งใหญ่ เมื่อปี 2553 รวมถึงการบรรยายเรื่อง การป้องกันและควบคุมน้ำท่วมเมือง โดย ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางผังภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีการบรรยายในเกี่ยวกับการวางผังลุ่มน้ำ การรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ภาวะเสี่ยงภัยน้ำท่วม และการออกแบบแนวน้ำท่วมหลากและแก้มลิง โดย วิทยากรจาก กรมโยธาธิการและผังเมือง ปิดท้ายการอบรมด้วยการบรรยายในเรื่อง “การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”โดย นายพยัคฆพันธุ์ โพธิ์แก้ว ปลัดจังหวัดนครราชสีมา ที่ทำการปกครองท้องถิ่น
ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ฯ นายก อบจ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดโครงการฯ ว่า จากกรณีหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและคาดการณ์ผลกระทบได้ยากขึ้นทุกปี รัฐบาลจึงมีนโยบายในการแก้ไข ป้องกัน และบรรเทาปัญหาอุทกภัย โดยมอบให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมบูรณาการภารกิจให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยใช้มาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง คือการบังคับใช้ผังเมือง และมาตรการด้านการใช้สิ่งก่อสร้าง
ในส่วนของ จ.นครราชสีมา เราเป็นจังหวัดใหญ่ มีพื้นที่ 20,493.964 แบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น ๓๒ อําเภอ ๒๘๗ ตำบล ๓,๗๔๓ หมู่บ้าน ประชากรประมาณ ๒,๕๒๒,๒๕๑ คน ปัจจุบันได้มีการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ ๑๙ หากประกาศบังคับใช้แล้ว อบจ.นครราชสีมาจะเป็นผู้นำผังดังกล่าวไปบังคับใช้ ในผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมามีชุมชนที่ต้องดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม ๔๙ ชุมชน ขณะนี้ได้มีการวาง ผังเมืองรวมและประกาศใช้บังคับไปแล้ว 3 ผัง ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา ผังเมืองรวมเมืองบัวใหญ่ ผังเมืองรวมเมืองโนนสูง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก ๖ ผัง ผังเมืองรวมเมืองปากช่อง ผังเมืองรวมเมืองสีคิ้ว ผังเมืองรวมเมืองเมืองปัก ผังเมืองรวมชุมชนพิมาย ผังเมืองรวมชุมชนโชคชัย และผังเมืองรวมชุมชนด่านเกวียน
นายก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยเพิ่มถึงข้อมูล แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมาว่า แหล่งน้ำธรรมชาติปัจจุมีอยู่ 9 ลุ่มน้ำ แต่ละลุ่มน้ำมีลำน้ำสาขาอีกหลายสายพื้นที่ลุ่มน้ำ ประมาณ ๒๐๔๗๙๔ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ ในจังหวัด รับน้ำจากลุ่มน้ำที่สำคัญได้แก่ อำเภอชุมพวง พิมาย ห้วยแถลง จักราช โนนสูง เมือง เสิงสาง ครบุรี โชคชัย ปักธงชัย สูงเนิน ปากช่อง ขามทะเลสอ สีคิ้ว โนนไทย ประทาย โนนแดง บัวใหญ่ ขามสะแกแสง คง แก้งสนามนาง บ้านเหลื่อม หนองบุญมาก รวม ๒๔ อำเภอ และมีห้วย ลำธาร คลอง ๑,๖๘๘ สาย ซึ่ง ในจำนวนนี้ มีที่ใช้งานได้ในฤดูแล้ง ๑,๖๗๗ สาย มีหนอง บึง ๑,๐๒๗ แห่ง ที่มีสภาพใช้งานได้ในฤดูแล้ง ๑,๐๑๕ แห่ง มีน้ำพุ น้ำซับ ๓๔ แห่ง ที่มีสภาพใช้งานได้ ในฤดูแล้ง ๓๔ แห่ง และ อื่น ๆ ๕๐ แห่ง ที่มีสภาพใช้งานในฤดูแล้ง ๔๘ แห่ง ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและบุคลากรของราชการส่วนภูมิภาค ผู้บริหารและบุคลากรของส่วนราชการส่วนกลาง หน่วยงานอิสระ รัฐวิสาหกิจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีความรู้ความเข้าใจ ในแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ และนำความรู้ความเข้าใจในแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปใช้ในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงขอให้ผู้เข้ารับ การฝึกอบรมตั้งใจในการเรียนรู้ในครั้งนี้อย่างเต็มที่.
ด้าน นายอนุกูล แสงทองฉาย โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสภาพพื้นที่ป่าไม้ลดลงเนื่องจากถูกบุกรุก ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย และเมื่อฝนตกชุกมากขึ้น ประกอบกับไม่มีต้นไม้คอยดูดซับน้ำไว้ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งองค์กรที่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ขาดแผนหลักและงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ระบบข้อมูลทรัพยากรน้ำขาดการเชื่อมต่อ และไม่มีทีมวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน กฎหมายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำไม่ทันสมัย ขาดความพร้อมในการเผชิญอุทกภัยขนาดใหญ่ จากปัญหาเหล่านี้จึงก่อให้เกิดโครงการฯ ขึ้นมา เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดนครราชสีมา สามารถบูรณาการหาแนวทางป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดจากอุทกภัย อีกทั้งยังทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชน มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย ปกป้องเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองหรือชุมชน จัดให้มีที่พักผ่อนหย่อนใจ ปกป้องสถานที่ที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมประวัติศาสตร์และโบราณคดี บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิทัศน์ ที่งดงามทั้งในเขตเมืองและชนบท
นอกจากนี้ยังเป็นการถ่ายทอดความรู้ด้านทรัพยากรน้ำ ปัญหาการเกิดอุทกภัย แนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง และมาตรการด้านการใช้สิ่งก่อสร้าง ให้ผู้บริหารภาคราชการ ภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนชุมชน ประชาชนในเขตจังหวัดนครราชสีมาเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ในการป้องกันท้องถิ่นของตนเอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เมือง พื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงปรับปรุงและฟื้นฟูระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ และเร่งสร้างเสริมศักยภาพในการป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และบูรณาการเชื่อมโยงการแก้ปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน. โยธาธิการและผังเมือง กล่าว.
----------------------------------------------------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|